หลักเมือง (อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)
ศาลหลักเมือง | |
อาคารทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสยกพื้นสูงสันนิษฐานว่าศาลหลักเมือง | |
ที่ตั้ง | ทางทิศเหนือของคูน้ำวัดมหาธาตุภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย, ประเทศไทย |
---|---|
ประเภท | โบราณสถาน |
ส่วนหนึ่งของ | อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย |
ความเป็นมา | |
วัสดุ | อิฐ และศิลาแลง |
สร้าง | พุทธศตวรรษที่ 18–20 |
สมัย | สุโขทัย |
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่ | |
ขุดค้น | พ.ศ. 2503 |
ผู้ขุดค้น | กรมศิลปากร |
ชื่อที่ขึ้นทะเบียน | หลักเมือง |
ขึ้นเมื่อ | 27 ตุลาคม พ.ศ. 2502 |
เป็นส่วนหนึ่งของ | โบราณสถานในจังหวัดสุโขทัย |
เลขอ้างอิง | 0004168 |
หลักเมือง หรือรู้จักกันในนาม ศาลหลักเมือง เป็นโบราณสถานอาคารเดี่ยวขนาดเล็กทางทิศเหนือคูน้ำของวัดมหาธาตุ สันนิษฐานว่า เป็นศาลหลักเมืองของเมืองสุโขทัย
หลักเมืองมีลักษณะทางกายภาพเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสยกพื้นสูง ด้านบนมีฐานบัวก่อด้วยอิฐรองรับเสาแปดเหลี่ยมศิลาแลง มีบันไดทางขึ้นทางทิศตะวันออก แต่เดิมคาดว่ามีหลังคามุงด้วยกระเบิ้องและเครื่องบนทำจากไม้ ปัจจุบัน ชำรุดสิ้นสภาพ ฐานอิฐกว้าง 3 เมตร สูง 1.50 เมตร จากการสันนิษฐานทางโบราณคดี หลักเมืองนี้คงจะสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมืองสุโขทัยเมื่อรัชสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ในราวปี พ.ศ. 1781 โดยย้ายจากหลักเมืองบริเวณวัดพระพายหลวง แล้วสร้างเมืองใหม่บริเวณที่มีวัดมหาธาตุเป็นศูนย์กลาง จึงต้องสร้างหลักเมืองขึ้นใหม่
โบราณสถานแห่งนี้สันนิษฐานว่าเป็นหลักเมืองโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏในพระราชนิพนธ์ เที่ยวเมืองพระร่วง เนื้อหาว่า ทางทิศเหนือของวัดมหาธาตุริมวัดชนะสงคราม ราษฎรกล่าวว่าเป็นศาลหลักเมือง ทรงให้พระวิเชียรปราการตรวจโบราณสถานแห่งนี้ซึ่งแจ้งว่าเป็นหลักเมือง เมื่อครั้งทรงตรวจพบว่าโบราณสถานเป็นเนินดิน เมื่อขุดพบเป็นเสาศิลาแลงสี่มุม ตรงกลางมีหลุมทรงสันนิษฐานว่าเป็นหลุมฝังลูกนิมิต ซึ่งทรงพบแผ่นศิลาหักเป็นสองท่อน ข้อความจารึกเลือนลาง ทรงสันนิษฐานว่าอาจเป็นดวงเมือง ความว่า[1]: 35
แต่ทางทิศเหนือวัดมหาธาตุ ริมวัดที่เรียกกันว่า วัดชนะสงครามนั้น มีสถานอันหนึ่งซึ่งราษฎรเรียกว่าศาลกลางเมือง [...] คือมีเป็นเนินอยู่เฉย ๆ ก่อนแต่ครั้นให้ถางและขุดลงไป จึงได้เห็นท่าทางพอเดาได้ ว่ามีเสาแลงตั้งขึ้นไปทั้ง ๔ มุม มีมุมละ ๒ เสาซ้อนกันเป็น ๒ ชั้น ที่ตรงกลางเนินมีหลุม [...] ในหลุมนั้นมีศิลาแผ่นแบนทิ้งอยู่แผ่นหนึ่งแต่แตกแยกเป็นสองชิ้น ตรวจดูศิลานั้นก็แลเห็นเป็นลายอะไรเลือน ๆ จึงเหลือที่จะรู้ได้ว่าเป็นอะไร บางทีจะเป็นแผ่นศิลาที่ลงดวงของเมืองก็ได้
— ส่วนหนึ่งของพระราชนิพนธ์ เที่ยวเมืองพระร่วง ถึงข้อสันนิษฐานของหลักเมือง
คลังภาพ
[แก้]-
เสาศิลาแลงของโบราณสถาน
-
หลักเมืองทางทิศใต้ของวัดชนะสงคราม
-
หลักเมืองริมคูน้ำทางทิศเหนือของวัดมหาธาตุ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ อุทยานประวัติศาตร์สุโขทัย, กรมศิลปากร. ทำเนียบโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย. 2561.